ไปตะลุยคณะเภสัชฯ มหิดล กันเถอะ!!!
หลังจากที่ได้เขียนบทความแนะนำคณะเภสัชกันอย่างละเอียดยิบแล้ว วันนี้ เราจะพาน้องๆไปชม........บรรยากาศของคณะกันบ้างนะคะ (ป.ล. ยังเริ่มทำไปจิ๊ดเดียวเองอ่ะ คงต้องรอกันสักหน่อยนะคะ รับรองไม่เกินปีนี้แน่ๆๆๆ)
ผู้เข้าชมรวม
37,035
ผู้เข้าชมเดือนนี้
8
ผู้เข้าชมรวม
เพลงที่นำมาประกอบ เพื่อให้เข้าบรรยากาศของบทความนั้น พี่นำมาจาก
http://wongkhaen.net/web/web/0101Track1.wma
โดยเป็นเพลงที่นักศึกษาคณะเภสัชสาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทั้งแต่งและร้องเองด้วย
(เก่งจริงๆ)
เนื้อเรื่อง
คุณแน่ใจว่าต้องการคืนค่าการตั้งค่าทั้งหมด ?
ขอคุยกันก่อน....
บทความที่น้องได้อ่านตอนนี้เป็นบทความที่แนะนำพาเที่ยวชมคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอันที่จริงพี่ได้สัญญาว่าจะรีบทำให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว แต่ก็...เวลาล่วงเลยมานาน...
และก็ต้องขออภัยน้องๆด้วยนะคะ รูปที่พี่นำมาประกอบก็จะเป็นรูปที่พี่นำมาจากเว็บคณะ http://intranet.py.mahidol และ www.mupharmily.com ซึ่งเว็บอันหลังนี้ เป็นรูปของงาน Open Capsuleครั้งที่ 3 พี่เห็นว่าน้องๆเขามีการถ่ายภาพที่ทำให้เห็นลักษณะของห้องที่ใช้เรียนได้ชัดเจนจึงขอนำมาใช้ในการประกอบการพาเที่ยวนะคะ ถ้าทำให้น้องรู้สึกว่าทำไมไม่ถ่ายภาพเอง ตรงนี้ก็ต้องตอบว่า พี่ไม่ค่อยว่างนักค่ะ ขอโทษจริงๆให้อภัยพี่ด้วยนะคะ
เนื่องจากพาเที่ยวจึงไม่ได้มีข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนในคณะเภสัชศาสตร์มากนัก หากน้องอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนก็ลองเข้าไปอ่านที่
อยากรู้ไหมว่ากว่าจะจบเภสัชฯ Special Edition
แต่หากสนใจมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นพิเศษก็ลองเข้าไปอ่านบทความ
เรื่องราวรอบรั้วชาวมหิดล
ส่วนบทความดั้งเดิมอย่าง
อยากรู้ไหมว่ากว่าจะจบเภสัชต้องเจอวิชาอะไรบ้าง ?
นั้นกำลังปรับปรุงโดยเนื้อหาใหม่จะไม่ได้เจาะเฉพาะเภสัชมหิดลนะคะ เป็นเกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์ทั่วๆไป
โอ...ตอนนี้โฆษณามานานแล้วน้องๆคงเบื่อแย่...เอาล่ะๆเราไปเข้าสู้บทความกันเลยนะคะ
(ปล. ถ้าไม่ค่อยสวยก็ขออภัย
คือข้าพเจ้ามาความสามารถทางด้านคอมฯน้อยไปหน่อย)
-----------------------
สวัสดีค่ะน้องๆทุกคน
หลังจากที่พี่ได้เขียนบทความแนะนำคณะเภสัชศาสตร์อยู่หลายบทความด้วยกัน คาดว่าทุกคนคงจะพอจะเข้าใจและรู้จักคณะนี้กันมากขึ้น เอาล่ะค่ะ!! ถึงเวลาแล้วที่จะพาน้องๆไปรู้จักคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นคณะเภสัชศาสตร์อีกแห่งที่หลายคนใฝ่ฝันที่จะเข้ามาศึกษากันดีกว่า
..
ณ ภายในรถปรับอากาศสุดหรู ปรากฏร่างสาวสวยผมยาวสีแดงเพลิงหุ่นสะโอดสะองราวกับไม้เสียบไก่ยืนควงไมโครโฟน เอ้ย..ถือไมโครโฟน
พร้อมกับกรอกเสียงหวานใสปานแมวโดนน้ำร้อนลวกทักทายบรรดาประชากรในรถซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กน้อยละอ่อนวัยมัธยมปลาย
"สวัสดีค่า
แนะนำตัวก่อนนะคะ..ดิฉันไกด์สวยสะเด็ดค่ะ..หรือจะเรียกสั้นๆว่า "สวยสะ" ก็ได้ ทุกท่านคะวันนี้บริษัทสิระหรรรษาพาทัวร์มีโปรแกรมนำเที่ยวสุดพิเศษในราคาสุดประหยัด เราจะพาทุกท่านไปเยี่ยมชมคณะเภสัชศาสตร์
รั้วเขียวมะกอกกันภัย ดิฉันคาดว่าทุกท่านในที่นี้อาจจะยังไม่เคยไปมาก่อน
หนำซ้ำอาจจะไม่ทราบด้วยว่า คณะเภสัชศาสตร์แห่งนี้ตั้งอยู่ ณ บริเวณเสี้ยวส่วนใดของมหาวิทยาลัยมหิดล หลายท่านอาจจะกำลังคิดว่า
"จะใช่
ศาลายาหรือเปล่าน้า..?" เอาล่ะค่ะ ถ้าท่านยังสงสัยว่า
"มันตั้งอยู่ที่ใดกันแน่" วันนี้ทางบริษัททัวร์ของเราจะพาท่านเข้าไปเยี่ยมชมสถานที่ที่นี่กันอย่างใกล้ชิดทีเดียว รับรองว่าคุ้มค่ากับเงินที่ท่านต้องชำระให้กับทางบริษัทในยุคการเมืองผันผวน เศรษฐกิจฟืดเคืองแน่นอนค่ะ หุหุ
แต่ก่อนที่เราจะพาท่านไปยังสถานที่นี้
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับประวัติของคณะกันพอสังเขปนะคะ
.."
" กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ก่อนที่การแพทย์สมัยใหม่จะเข้ามาเผยแพร่ในราชอาณาจักรไทย ราษฎรที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ นานามีจำนวนมาก สืบเนื่องจากแพทย์การสาธารสุขในประเทศไทยในขณะนั้นยังล้าหลังอยู่มาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับปวงราษฎร์ในราชอาณาจักรของพระองค์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดตั้งโรงศิริราชพยาบาลขึ้น ในปี พ.ศ. 2429 โดยอาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิชาการแพทย์การสาธารณสุขสมัยใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นการก่อกำเนิด "มหาวิทยาลัยมหิดล" "
"จนในเวลาต่อมาโรงศิริราชพยาบาล ได้ขยายกิจการเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทย ชื่อว่า โรงเรียนแพทยาลัย จวบจนปี พ.ศ. 2486 ได้ผนวกเข้ากับจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และเปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์" ซึ่งขณะนั้นประกอบด้วยการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 4 คณะรวมทั้งคณะเภสัชศาสตร์ด้วย"
"อะแฮ่มๆ
รู้สึกลูกทัวร์ครั้งนี้พูดเก่งจังเลยนะคะ อย่าเพิ่งเบื่อสิคะ แหมๆๆ
ที่ดิฉันได้เล่าไปข้างต้นนั้นเป็นประวัติความเป็นมาอย่างคร่าวๆของการสาธารณสุขไทย..จากนี้ไปดิฉันจะเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของการศึกษาเกี่ยวกับ "เภสัชศาสตร์ในราชอาณาจักรไทย""
"การศึกษาเภสัชศาสตร์ในราชอาณาจักรไทยเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ระยะแรกๆ มีผู้สนใจเข้าศึกษาน้อย จำนวนผู้ศึกษาในปีหนึ่งๆ จึงมีไม่กี่คน และในบางปีไม่มีผู้สำเร็จการศึกษาเลย การขาดแคลนยารักษาโรค
ระหว่างสงครามโลกครั้งมที่สองเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของยา หลังจากสงครามสิ้นสุดลง ธุรกิจขายยาได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการขาดแคลนเภสัชกร เมื่อ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2493 ประกาศใช้ ปรากฏว่าร้านยาทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคบางแห่ง ไม่สามารถหาเภสัชกรประจำร้านได้ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากปี พ.ศ. 2457 จนถึง พ.ศ. 2493 มีเภสัชกรสำเร็จการศึกษาเพียง 327 คนเท่านั้น
คณะเภสัชศาสตร์ซึ่งเดิมมีเพียงคณะเดียวที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ได้เพิ่มการผลิตจนสามารถผลิตได้ถึง 50 คน ถึงกระนั้นจำนวนเภสัชกรก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของทั้งรัฐและเอกชนอาคารสถานศึกษาเดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2489 นั้นใช้สำหรับนักศึกษาชั้นปีละ 20 คน แต่คณะ ได้ต่อเติมขยับขยายจนสามารถรับนักศึกษาได้ปีละ 120 คนใน พ.ศ. 2506 จึงไม่สามารถขยายการรับให้เพิ่มขึ้นได้อีกมากนัก มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์จึงเริมโครงการจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์แห่งที่สองขึ้นมา เมื่อ พ.ศ. 2508 โครงการดังกล่าวได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2510 2514)"
"เอาล่ะค่ะตอนนี้ใกล้จะถึงจุดหมายปลายทางของเราแล้วนะคะ ดิฉันยังเล่าไปจบเลย เอาเป็นว่าจะเร่งสปีดเลยนะคะ ถ้าทุกท่านไม่ตั้งใจฟังระวังจะพลาดตอนสำคัญนะคะ"
"เล่าต่อจากตะกี้นะคะ
.โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบจนมี "พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พญาไท" เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511
เมื่อแรกตั้งใช้ชื่อว่า "คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท"
โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชวาล โอสถานนท์อธิการบดี
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
ขณะนั้นมารักษาการตำแหน่งคณบดีคณเภสัชศาสตร์ พญาไท
อีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนาม "มหิดล"ให้เป็นชื่อของมหาวิทยาลัย
โดยมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลประกาศใช้เมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2512 คณะเภสัชศาตร์แห่งเดิมซึ่งตั้งอยู่บริเวณจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยจึงได้โอนเข้าสังกัดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยไป และเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515
จึงเปลี่ยนชื่อ
"คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท"
เป็น
"คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล"
ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท เปิดการเรียนการสอนโดยรับนักศึกษา รุ่นแรกจำนวน 50 คน ในปีการศึกษา 2512 โดยศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ 2 ปี และในปีการศึกษา 2514 เป็นปีที่คณะเภสัชศาสตร์ พญาไท
เปิดสอนนักศึกษาที่ผ่านจากคณะวิทยาศาสตร์เป็นปีแรก
โดยมีผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2516 จำนวน 42 คน"
"เอาล่ะค่ะตอนนี้รถทัวร์ของเราก็ได้มาถึงจุดหมายอย่างปลอดภัยแล้วนะคะ
.แล้วก็จบการเล่าเกี่ยวกัประวัติคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พอดิบพอดีเลย เฮ้อ
..เอ
ขอเสียงหน่อยจ้า
ทุกท่านหลับไปหรือยังคะเอ้า..หากคนข้างๆหลับช่วยปลุกกันด้วยนะคะ ตอนนี้เรามาถึงคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกันแล้วนะคะ เดี๋ยวพอทุกท่านลงจากรถช่วยกรุณาตั้งแถวด้วยค่ะ"
เหล่าประชากรที่เชื่องเซื่องซึมบนรถทัวร์พากันเดินลงมาเข้าแถวอย่างว่าง่ายราวกับโดนโฆษณาขายฝันของคนบางกลุ่มเป่าใส่เสียจนหน้ามืดตามัวจนมองไม่เห็นความจริงที่ซ่อนเร้นอยู่
รีบเร่งเข้าแถวจนเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว
"ดีมากเลยนะคะ ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ แหม
เข้าแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยเลยนะคะ" ปาดเหงื่อสามตลบก่อนที่จะไหลพัดพารอพื้นหนาห้าชั้นหลุด ก่อนฉีกยิ้มต่อ
"สวัสดีทุกท่านอีกครั้งนะคะ ตอนนี้เราก็มาถึงคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลกันแล้วนะคะ ทุกท่านคะ
ทุกท่านสังเกตเห็นอะไรที่แปลกแตกต่างจากที่อื่นๆไหมคะ
ใครตอบได้เดี๋ยวให้รางวัล"
"รางวัลเป็นอะไรล่ะครับ"
"เป็นจุมพิตจากดิฉันอย่างไรล่ะคะ" เท่านั้นแหล่ะเสียงเงียบไปถนัดตา ตอนนี้เจ๊สวยสะเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่า มุข..ไม่ work
"เอาเป็นว่าดิฉันเฉลยเลยดีกว่านะคะ จะได้ไม่เสียเวลา"
"เราจะสังเกตเห็นว่า (หวังว่าคุณจะสังเกตเป็นนะคะ หุหุ) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแห่งนี้ ตั้งอยู่เพียงคณะเดียวโดดๆ บนฝั่งถนนศรีอยุธยาปราศจากชายแดนติดต่อกับคณะใดๆของมหาวิทยาลัยมหิดล"
"อ้าว
ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะครับ..คณะอื่นๆเขาก็ยังมีอาณาเขตติดกันบ้างเลย แบบนี้เขาเรียกว่าถูกปล่อยเกาะอ่ะดิ่ป้า
.เอ้ย..พี่สวยสะ" หนุ่มน้อยเอ่ยขึ้น..
"ฮึ่ม!! (ขืนเรียกป้าอีก แกตายยยแน่ๆ ดีนะที่แกดันหล่อ.) อ้อ
(ฉีกยิ้มหวาน)
คือ เขา
อันที่จริงพื้นที่บริเวณนี้นะคะ มีความเป็นมาค่ะ ดิฉันจะเล่าให้ฟังนะคะ ทำไมคณะนี้ถึงอยู่เพีงลำพังบนถนนศรีอยุธยาน่ะค่ะ"
"สถานที่และอาคารบริเวณก่อนที่จะเป็นคณะเภสัชศาสตร์ พญาไทนั้น
(หวังว่าจะยังคงจำกันได้นะ ไม่ใช่ปลาทองนี่เนอะ หุหุ) เดิมทีเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 4 หลัง ภายหลังที่คณะวิทยาศาสตร์ ย้ายไปยังอาคารใหม่ ถ.พระราม 6 (บริเวณติดกับโรงพยาบาลรามาธิบดี อันเป็นสถานที่ตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)
ซึ่งต่อมาทางสถาบันเพื่อการพัฒนาแลละวางแผนเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติได้ขอดัดแปลงใช้อาคาร 1 และ 4 เป็นที่ทำการชั่วคราว ส่วนอาคาร 2 คณะวิทยาศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอใช้เป็นสถานที่สอนนักศึกษาชั่วคราวจนกว่าการก่อสร้างคณะทั้งสองที่ จ.สงขลา จะแล้วเสร็จ สำหรับอาคาร 3 ได้ถูกทิ้งร้าง แต่ก็อนุญาติให้บุคคลภายนอกและนักศึกษาใช้เป็นที่พักอาศัย อาคาร 2 และ 3 อยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
คณะเภสัชศาสตร์ ได้สำรวจสถานที่และวางแบบแปลนที่จะดัดแปลงอาคาร 1 เพื่อเตรียมรับนักศึกษารุ่นแรกปีการศึกษา 2512 โดยศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงเข้ามาเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ ในปีการศึกษา 2514 ในการเปิดสอนนักศึกษาปีที่ 3 รุ่นแรกนั้น ทางคณะได้อาศัยอาคาร 3 ซึ่งได้ดัดแปลงซ่อมแซมเสร็จบางส่วนเป็นสถานที่เรียนและปฏิบัติการ ตลอดทั้งเป็นห้องสมุด ห้องพักอาจารย์ สำนักงานเลขานุการคณะ ตลอดจนห้องอาหาร กล่าวได้ว่าชีวิตนักศึกษาจะอยู่บนอาคารหลังนี้ เพราะรอบๆ บริเวณอาคารยังไม่ได้ปรับปรุง(น่าเห็นใจนะ)"
"ต่อมา..ในปี พ.ศ. 2515 คณะทั้งสองของ ม.สงขลานครินทร์ ได้ย้ายไป จ.สงขลา แล้ว คณะจึงมีอาคารเรียนและปฏิบัติการเพิ่มขึ้นสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ชั้นปีที่ 4 และชั้นปีที่ 5 เต็มตามโครงการจัดสอนขั้นปริญญาตรี อย่างไรก็ตามคณะมีงบประมาณแต่ละปีจำกัด การดัดแปลงซ่อมแซมอาคารตลอดจนการปรับปรุงบริเวณโดยรอบคณะต้องกระทำต่อเนื่องกันหลายปี ในพ.ศ. 2521
คณะก็ได้ขอดัดแปลงส่วนหนึ่งของอาคาร 1 ด้านติด ถ.ศรีอยุธยา เป็นสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2522
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน คณะฯ และสถาบันฯ ได้ใช้อาคารร่วมกันจนกระทั่งสถาบันฯ ได้ย้ายออกไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2523
ตามมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532
กำหนดให้สาขาวิชาเภสัชศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลนแลละขอให้เพิ่มการผลิตบบัณฑิตเป็นปีละ 120 คน คณะฯ ได้ดำเนินตามนโยบาย
และขออนุมัติจัดสรรงบประมาณการผลิตบัณฑิตเพิ่ม"
"เดี๋ยวก่อนสิครับ
ผมว่าอาคารยังดูใหม่อยู่เลยนะครับ สร้างใหม่นานแล้วหรือ
" (อ้าย)เด็กหน้าหล่อเจ้าเดิมเอ่ยทะลุกลางปล้องอย่างไม่มีมารยาท
(เด็กๆคะ อย่าทำกิริยาเช่นนี้ เดี๋ยวเขาจะด่าว่าลามปามไปถึง
ได้นะเคอะ!)
" เอ่อ
น้องคะ ฟังก่อนสิคะ ยังเล่าไม่จบเลย
(เดี๋ยวปั๊ด..หอมแก้มซะนี่...เด็กมันหล่อนี่คะ โฮะๆๆ)
แหม..พี่ลืมเลยนะคะนี่ เล่าถึงไหนแล้วล่ะ
อ้อๆๆ ..เนื่องจากคณะฯ มีอาคารเรียนและปฎิบัติการไม่เพียงพอ จึงได้เตรียมโครงการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ จัดทำแผนแม่บท 10 ปี แบ่งโครงการเป็น 3 ระยะ และขออนุมัติงบประมาณผูกพันโดย โครงการระยะที่ 1 รื้อถอนอาคาร 1 และ 4 ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมที่สุด
และอาคาร 2 บางส่วน แล้วก่อสร้างอาคารใหม่ 1 หลังทดแทน และจะดำเนินการก่อสร้างอาคารอีก 2 หลังในโครงการระยะที่ 2 และ 3 เมื่อโครงการระยะที่1 สิ้นสุดลง อาคารใหม่โครงการที่ 1 แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537
คณะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามชื่ออาคารนี้ว่า
"อาคารเทพรัตน์" เมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม พ.ศ. 2536
และเสด็จระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเทพรัตน์ในวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2538
เมื่อการก่อสร้างอาคารเรียนและปฎิบัติการในโครงการระยะที่ 1 เสร็จสมบูรณ์ คณะฯ ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทจัดทำโครงการก่อสร้างอาคารระยะที่ 2 และ 3 โดยทำโครงการทั้งสองพร้อมกันไป คณะฯ ได้เสนอขอจัดตั้งงบประมาณรื้อถอนอาคาร 2 และ 3และก่อสร้างอาคารขึ้นทดแทน เป็นอาคารซึ่งได้รับพระราชทานนาม "ราชรัตน์" โดยเริ่มดำเนินการวางศิลาฤกษ์เมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2541 และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2543"
"อ่า
พอเราผ่านประตูคณะ(พบยามหน้าตาหล่อลากกก..มั้ง?) ทางด้านซ้ายมือที่เห็นเป็นอาคารสีเข้มๆ ตั้งเยื้องๆ นี้ล่ะค่ะ "อาคารเทพรัตน์" ส่วนอีกอาคารที่ตั้งตระหง่านอวดโฉมชัดเจนโดดเด่น อาคารนี้เป็นอาคารใหม่ที่เพิ่งสร้างมาไม่นาน นั่นคือ.."อาคารราชรัตน์""
"เอาล่ะค่ะ เดินตามมาทางนี้นะคะ" ไกด์สาวแสนสวย(มั้ง?)
สาวเท้าก้าว ฉับๆ นำหน้ามุ่งไปยังป้อมยาม
(บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารราชรัตน์ เป็นอีกที่หนึ่งที่ใช้ในการจัดงานต่างๆ)
"อุ้ย
ลืมบอกไป
.ทุกท่านหันหลังกลับไปทางด้านรั้วก่อนนะคะ
..
ด้านติดริมรั้วของคณะ ถัดเข้ามาซักประมาณ 50 เซนติเมตร
ท่านจะเห็น..ศาลพระภูมิและศาลตากับยาย ด้านหลังศาล..ที่ทุกท่านเห็นมีลักษณะคล้ายแปลงผัก เอ้ยย..แปลงดอกไม้ พวกนี้
คือ สมุนไพรนานาชนิดปลูกผสมปนเปปะปนไปกับพวกพืชชนิดอื่นๆ รวมถึงไม้ดอกไม้ประดับ (ทำให้ไม่แน่ใจว่า..จะเรียกว่าสวนสมุนไพรขนาดเล็กได้ไหม?)"
"คราวนี้ดิฉัน(คาดว่า)คงไม่ลืมอธิบายอะไรแล้ว เที่ยวนี้เราจะพาเข้าไปเยี่ยมชมกันภายในคณะกัน
.ทุกคนคะเชิญแลกบัตรที่ป้อมยาม ก่อนเข้าไปภายในคณะนะคะ ที่นี่เวลาบุคคลภายนอกจะเข้ามาที่คณะจะต้องมีการแลกบัตรด้วยนะคะ เอาล่ะแลกบัตรครบทุกคนหรือยังเอ่ย? ถ้าเสร็จแล้วเชิญทางนี้นะคะ"
"อันดับแรกจะพาชมอาคารเทพรัตน์กันก่อนนะคะ เมื่อเดินเข้ามาที่อาคารนี้ ท่านจะเห็นรูปปั้นลอยตัวครึ่งตัวตั้งอยู่ ซึ่งรูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นของบุคคลท่านหนึ่งที่มีคุณูปการต่อคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอย่างยิ่ง"
พอร่ายยาวจบ หล่อนก็ค่อยๆผ่อนลมหายใจอย่างช้าๆ พร้อมกับกราดสายตาใต้แพขนตาที่ปัดมาสคาร่าจนหนาเตอะมองไปทั่วทุกประชากร เมื่อเห็นว่าทุกคนมีสีหน้าตั้งอกตั้งใจ หล่อนก็เปิดปากเล่าเรื่องราวต่อ ..
"รูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นของ "ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร" คณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหิดล ดิฉันจะเล่าถึงประวัติของท่านให้ฟังก่อนคร่าวๆและเดี๋ยวจะปล่อยให้ทุกท่านถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึกนะคะ
.
ท่านอาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร เกิดเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2465
ที่ อ.ขันเงิน จ.หลังสวน (ปัจจุบัน คือ หลังสวน จ.ชุมพร)
อาจารย์มีพี่น้อง 9 คน เป็นบุตรคนที่ 4 ของขุนสารธนพิทักษ์ (ยุก้วน หุตางกูร) และนางเซียม (วิชัยดิษฐ์) หุตางกูร
อาจารย์ได้สมรสกับเภสัชกรหญิง ขเสม บำรุงสวัสดิ์
และมีบุตรชายคือนายปกขวัญ หุตางกูร
อาจารย์เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดหลังสวน (สวนศรีวิทยา) และตามบิดาไปเรียนต่อที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา จนจบม.5 และมาเรียนต่อที่โรงเรียน อำนวยศิลป์ปากคลองตลาดจนจบชั้นม.6 จากนั้นได้สอบ เข้าเตรียมจุฬาฯ สมัครเข้าเรียนแพทยศาสตร์ได้ เมื่ออยู่ปีที่ 2 ได้ทุนเข้เรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงแผนกอิสระเภสัชศาสตร์ในสังกัดจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ปลายปี 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 บิดาของอาจารย์ได้เสียชีวิตลง ทำให้ชีวิตในช่วงสงครามลำบากมาก แต่อาจารย์ยังสามารถเรียนจบและคว้ารางวัลเหรียญทองมาได้
ในขณะที่เรียนชั้นปีที่ 2 ปลายปีการศึกษา 2486 ชั้นปีที่ 3 และ 4 ของแผนกเภสัชกรรมศาสตร์แยกไปสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่แลละยกฐานะเป็นคณะเภสัชศาสตร์ ต้นปี 2488 ขณะที่อาจารย์เรียนอยู่ปีที่ 4 กรุงเทพฯได้รับภัยทางอากาศอย่างรุนแรง
ทำให้ต้องปิดคณะไปโดยไม่มีกำหนดช่วงนั้นอาจารย์ได้ทำงานกับร้านขายยาราว 6 เดือน เมื่อคณะเปิดใหม่ก็ได้กลับเข้าเรียนจนจบการศึกษา เป็นเภสัชศาสตร์บัณฑิตหักสูตร 4 ปีรุ่นที่ 3 ได้รับปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อเรียนสำเร็จแล้วอาจารย์ประดิษฐ์ได้ทำงานที่ร้านขายยาของนายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล (บุญส่งฟาร์มาซี) ถนนสุริยวงศ์
ในระหว่างปี 2488 2490 จนสงครามเลิก จึงกลับเข้ารับราชการเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกในภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี 2498 ได้รับทุน I.C.A.
ไปเรียนวิชาเภสัชอุตสาหกรรมที่ Purdue University สหรัฐอเมริกาได้รับปริญญา M.S. และฝึกงานที่ National Institute of Health และเข้ามาศึกษาวิชา physics ใน School of physics ในมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน และกลับมาเป็นผู้เริ่มสอนวิชา physical pharmacy แก่นักศึกษาในปี 2500
ในปี 2507 อาจารย์ได้ทำหน้าที่รักษาการเลขานุการ คณะฯแลละได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปี 2508
ปี 2515 อาจารย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณบดีท่านแรกของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ อาจารย์ยังคงได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นคณะบดีต่อไป จนเกษียณอายุในปี 2526
และในระหว่าง ปี 2519 2522 อาจารย์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลอีกตำแหน่งหนึ่ง
และในปี 2519 นี้อาจารย์ได้เข้าเรียนในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลังจากเกษียณอายุแล้วอาจารย์ได้รับพระราชทานปริญญาเภสัชศาสตร์ดุษฎีบบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อปี 2529 เมื่อออกจากราชการ ท่านยังคงทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการต่างๆ และยังคงทำประโยชน์ให้ราชการและคณะเท่าที่เวลาจะอำนวย
จนเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2528
ท่านมีอาการแน่นหน้าอกขณะทำงาน
และได้รักษาที่ห้อง ICU โรงพยาบาลราชวิถี
ด้วยความที่ท่านห่วงงานที่ยังไม่เสร็จสิ้นจึงไม่ได้พัผ่อนอย่างเต็มที่ อย่างที่แพทย์แนะนำท่านกลับบ้าน และทำงานต่อไปอีกจนเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวกะทันหันระหว่างการประชุมกรรมการแห่งชาติด้านยา ที่ห้องประชุมกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 14 .40 น . ของวันพุธที่ 22 พ.ค. 2528 รวมอายุได้ 63 ปี"
"อาจารย์ประดิษฐ์ หุตางกูร ได้อุทิศตัวทั้งเวลาและสติปัญญา ในการพัฒนาคณะเภสัชศาสตร์และวิชาชีพเป็นแบบอย่างที่ดีต่อคนรุ่นหลัง ท่านมีความมุ่งหมายในการทำงาน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมประการเดียว โดยไม่สนใจลาภยศ ตำแหน่งหรือคำสรรเสริญ ท่านอยู่อย่างเรียบง่าย สมถะ และอุทิศตนเพื่อวิชาชีพอย่างแท้จริง การสูญเสียท่านอาจารย์ จึงเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่
ยากที่จะหาผู้ทดแทนได้"
พูด(ร่ายยาววววติดเทอร์โบ)จบ เสียงปรบมือดังเปาะแปะๆให้กำลังใจก็ดังก้อง (คงจะเป็นปรบแสดงความยินดีที่เจ๊แกพูดจนจบได้
โดยไม่เป็นลมไปเสียก่อน
เฮ้อ..)
"อะแฮ่มๆ
(คอแห้งไปนิด แต่ไม่เป็นไรค่ะ) อาคารเทพรัตน์เป็นอาคารสูง 7 ชั้น ชั้นล่างสุดซึ่งเป็นชั้นที่เรากำลังยืนอยู่นี้ เป็นชั้นที่สำคัญมากทีเดียวค่ะ บริเวณชั้นนี้จะประกอบด้วย ห้องทำงานของคณบดีและรองคณบดีฝ่ายต่างๆ ก็บรรดาห้องที่ว่านี้จะตั้งอยู่ทางด้านขวามือ (เมื่อหันหน้าเข้าหารูปปั้นท่านอาจารย์ประดิษฐ์) หากเดินผ่านห้องของคณบดีเข้าไปทางด้านลิฟต์ด้านในอาคาร เราจะเห็นห้องแล็บจุลชีววิทยาที่ที่เหล่านักศึกษาจะใช้ในการเรียนแล็บสารพัดเชื้อโรคต่างๆ เพาะเชื้อ ส่องเชื้อ วู้ยยย เยอะแยะค่ะ ภายในห้องจะมีตู้ให้นักศึกษาวางกระเป๋าและข้าวของต่างๆ เพื่อจะได้ไม่เกะกะเวลาทำแล็บ ตรงข้ามห้องแล็บจะเป็นห้องแล็บเหมือนกันแต่จะเป็นของนักศึกษาปริญญาโท ดูแล้วจะเล็กกว่าแต่เครื่องมือหรูหราไฮโซกว่าของปริญญาตรีม้ากกมากค่ะ"
(รูปเมื่อมองออกมาข้างนอกอาคาร เมื่อตัวเราอยู่ในอาคารเทพรัตน์)
(รูปภายในห้องแล็บจุลชีววิทยา และสิ่งที่เห็นเป็นส่วนหนึ่งที่นักศึกษาจะต้องเรียน)
"ด้านซ้ายมือ จะมีซอยเล็กๆทอดยาวเข้าไป ส่วนนี้จะเป็นที่ทำของกองกิจการนักศึกษา ฝ่ายทะเบียนและประเมินผล ฝ่ายการเงิน และห้องพยาบาล ซึ่งจะมีอาจารย์มาคอยให้การักษาเมื่อนักศึกษาเจ็บป่วย โดยเมื่อนักศึกษาได้รับการตรวจหาสาเหตุการเจ็บป่วยแล้ว จะได้ใบสั่งยามา 1 ใบ เราก็จะเดินเข้าประตูด้านหลังร้านยาคณะเพื่อไปเอายาในร้าน (ปกติประตูนี้จะแปะป้ายห้ามนักศึกษาผ่าน แต่ก็
ไม่เห็นมีใครที่จะไม่เดินเข้าร้านยาทางด้านนี้)
อาจารย์ที่เป็นเวรร้านยาในวันนั้น ก็จะจัดยาให้พร้อมทั้งอธิบายเกี่ยวกับยา การปฏิบัติตัวต่างๆ (เหมือนร้านยาทั่วๆไป) ที่เรามีร้านยาด้วยนั้นก็เพื่อให้นักศึกษาใช้ฝึกงานเกี่ยวกับทางด้านเภสัชกรรมชุมชน (เภสัชร้านยานั่น แหล่ะ)"
ไกด์สาวเดินตรงไปยังบันไดที่อยู่ทางด้านซ้ายมือของรูปปั้น
"เดินตามเลยค่ะ เพราะดิฉันจะพาทุกคนไปดูห้องเรียนของเหล่านักศึกษากัน"
"ตรงนี้เป็นชั้น 2 ของอาคารแห่งนี้ ห้องที่ติดกับบันไดเป็นห้อง 201 และถัดมาเป็นห้อง 202 ทั้งสองห้องเป็นห้องสำหรับการเรียนเล็คเชอร์และใช้เป็นห้องสอบด้วยค่ะ ลักษณะภายในของสองห้องไม่แตกต่างกันมาก ขนาดจุคนได้ประมาณ 100 กว่าคน
(ทั้งสองห้องใช้เป็นห้องสอบMCQ ของการสอบ
ใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สนามสอบมหิดลด้วยล่ะ หุหุ)"
"ตรงข้ามกับห้องเล็คเชอร์จะมีห้องน้ำ สะอาดสะอ้าน กระจกบานใหญ่ใส ส่องแล้วรู้สึกว่าตนเองสวย ถ้าอย่างไรก็ลองเข้าไปส่องดูได้นะคะ
แต่ดิฉันว่าตอนนี้ไปดูห้องอื่นๆกันก่อนดีกว่า"
"เอ๊ะ!! เอ่อ..เจ๊ะ เอ้ย..พี่ครับนี่มันห้องอะไรครับ ผมรู้สึกว่าจะเป็นฟิตเนส
ที่นี่มีฟิตเนสด้วยหรือครับเนี่ย
"
สะบัดผมหันกลับด้วยท่วงท่าราวกับนางเอกหนังฮอลลีวูด
ชายตาด้วยหางตาเล็กน้อยก่อนตอบ
"ใช่ค่ะ ห้องที่ตรงกับห้องเล็คเชอร์อีกห้อง(ที่ไม่ใช่ห้องน้ำ!) แต่ก่อนก็ใช้เป็นห้องเรียนเช่นกัน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นฟิตเนสแทนแล้วค่ะ
ตอนนี้คงไม่มีใครสงสัยอะไรอีกแล้วนะคะ
ดิฉันจะได้พาไปเยี่ยมชมห้องแล็บเภสัชอุตสาหกรรมกันค่ะ"
"เราเริ่มเดินจากห้อง 201 และ 202 เดินลงบันไดมา(7-8 ขั้น)
เราจะผ่านห้องแล็บวิจัยก่อน ภายในห้องนี้จะมีอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือวัดการละลายของเม็ดยา เครื่องกรองน้ำ เป็นต้น
โดยจะเป็นห้องคู่ทะลุถึงกันได้ ตรงข้ามจะเป็นห้องพักของอาจารย์ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม แต่เมื่อมีการสร้างอาคารใหม่(ราชรัตน์)
ห้องพักอาจารย์ก็ได้ย้ายไปยังอาคารใหม่ด้วย
แต่ก็ยังพบว่าอาจารย์ยังคงใช้ห้องที่นี่อยู่"
"เอาล่ะค่ะ มาถึงห้องแล็บที่ดิฉันได้เล่าเอาไว้เมื่อตะกี้ ห้องนี้เป็นห้องแล็บสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี ในห้องจะเห็นเจ้าเครื่องมีแกนที่เหมือนมีวงล้อติดอยู่ด้านข้างแถมยังมีที่จับ สามารถหมุนได้ด้วยนะคะ จะลองหมุนดูก็ได้
แต่ก็ต้องระวังมือหน่อยนะคะ เพราะเจ้าเครื่องนี้
คือเครื่องตอกยาแบบสากเดียวค่ะ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า
"
"Single punch ครับ!!"
หล่อนทำจมูกย่น ..รู้สึกแย่เล็กน้อยที่ถูกเด็กมันแย่งพูด
แต่ก็ช่างเถอะเป็นผู้ใหญ่ไม่ถือสาเด็กหรอก (แถมหล่อๆ เรายิ่งไม่ถือ..ว้าว)
(รูปภาพภายในห้องแล็บเภสัชอุตสาหกรรม)
"เวลาเรียนจะแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 4-5 คน หรือบางครั้ง ก็อาจจะถึง 6 คน โดยจะแบ่งเรียงตามรหัส แบ่งออกเป็นกรุ๊ป A และกรุ๊ป B เนื่องจากหากเรียนพร้อมกันทั้งชั้นปี อาจจะเกิดเหตุห้องแล็บแตกได้ ต้องผลัดกันระหว่างกรุ๊ป A และกรุ๊ป B บางครั้งก็เรียกแล็บเช้าแล็บบ่าย
(เพราะอีกกรุ๊ปเรียนตอนเช้าและอีก กรุ๊ปเรียนตอนบ่าย)"
ชาวบ้านประชาชีในกรุ๊ปทัวร์ต่างเดินดูข้าวของภายในห้องอย่างสนอกสนใจ
"แล้วเครื่องนี้ล่ะครับใช่เครื่องตอกยาด้วยหรือเปล่า?"
เด็กหนุ่ม(หล่อ)คนเดิมถาม(อีกแล้ว)
"เก่งมากค่ะน้อง นี่ก็เป็นเครื่องตอกยาเช่นกัน แต่อันนี้ใช้ไฟฟ้าค่ะ
เครื่องที่พูดถึงเมื่อกี้ใช้แรงคนค่ะ"
"ทุกท่านคะ ดิฉันขอเล่าเกี่ยวกับการเรียนวิชานี้ของนักศึกษาอีกเล็กน้อย "
"นักศึกษาที่แบ่งออกเป็นกลุ่มจะมีโต๊ะประจำของกลุ่มตน ซึ่งเขาจะต้องทำแล็บด้วยกันค่ะ ข้าวของในโต๊ะหากหายหรือเสียหายก็ต้องร่วมชดใช้ค่ะ"
"คิดว่าทุกท่านคงจะเดินดูกันทั่วแล้ว ไปดูชั้น 3 กันต่อดีกว่านะคะ"
ระหว่างเดินขึ้นบันไดไปยังชั้น 3 เจ๊สวยก็พูดต่อไปพลางๆ
"ชั้น 2 ทั้งชั้น ด้วยความที่เชื่อมกับอาคารใหม่ด้วยทำให้ทั้งชั้นสองของทั้งสองอาคารจะเป็นชั้นสำหรับภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม จากห้องแล็บตะกี้ พอเดินต่อเข้าไปจะเป็นห้องของนักศึกษาปริญญาโท และสุดด้านในจะเป็นห้องน้ำ ดิฉันก็เลยไม่พาเข้าไปชมน่ะค่ะ
แต่อันที่จริงชั้น 3 ของอาคารเทพรัตน์นะคะ จะมีห้องพักของพี่คุม แล็บ เมื่อขึ้นมาถึงชั้น 3 ห้องแล็บที่เห็นจะเป็นห้องแล็บของนักศึกษาปริญญาโทภาควิชาเภสัชกรรมเทคโนโลยี ส่วนห้องแล็บวิชานี้ของพวกปริญญาตรีจะอยู่ที่อาคารใหม่ค่ะ เวลาเรียนเขาก็จะเดินข้ามฝั่งไปยังอาคารใหม่ เพราะมันมีทางเชื่อมซึ่งทางเชื่อมระหว่างอาคารเก่ากับใหม่จะมีอยู่ทุกชั้นค่ะ ชั้น 3 จะเป็นชั้นของภาควิชาเภสัชกรรม
(เภสัชกรรมเทคโนโลยีและเภสัชกรรมคลินิก)"
"มีใครเหนื่อยไหมคะ? หวังว่าคงยังไม่เหนื่อยไม่เมื่อยกันเนอะ เพราะตรงนี้ไม่มีอะไร เราจะขึ้นไปชั้น 4 กันเลย
เอ้ยย ลืมค่ะ ชั้น 3 นี้จะมีห้องประชุมขนาดใหญ่ เป็นห้องที่ใช้จัดงานต่างๆ เช่น ปฐมนิเทศน์นักศึกษาใหม่ งานไหว้ครูคณะเภสัชศาสตร์ งานไหว้ครูดนตรีไทย งาน open capsule และอีกสารพัดงานค่ะ นอกนั้นไม่มีอะไรเราเดินทางไปชั้น 4 เลยดีกว่า
ตอนนี้ผ่านมาเกือบชั่วโมงครึ่งแล้ว ยังเที่ยวชมไม่ถึงไหนกันเลย"
"ชั้น 4 จะเป็นชั้นของภาควิชาเภสัชกรรมเคมีทั้งหมดทั้งส่วนของอาคารเก่าและใหม่ เมื่อขึ้นบันไดเราจะเห็นห้องอยู่ตรงหน้าเลย ห้องนี้เป็นห้องแล็บสำหรับการเรียนวิชา Inorganic chemistry พูดง่ายๆก็วิชาเคมีดีๆนี้ล่ะค่ะ เราจะใช้เรียนเกี่ยวกับการสังเคราะห์สารต่างๆ เป็นแล็บที่สนุกสนานและเป็นเวทีการแสดงเดี่ยวของแต่ละคน เนื่องจากแล็บเที่ยวนี้ต่างคนต่างทำ คะแนนที่ได้จะพิจารณาจากproduct ที่สังเคราะห์ได้ ได้ตามที่ต้องการหรือไม่ ทุกคนจะมีตู้เก็บของเป็นของตัวเอง ภายในแอ่นเอี๊ยดไปด้วยเครื่องแก้ว บิกเกอร์ ฟลาส์ก แท่งแก้ว ถ้าแตก ถ้าของหายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง บางคนโชคร้ายเจอโต๊ะแล็บที่ติดกับพาร์ทเนอร์แล็บโต๊ะข้างๆที่มีนิสัยชอบหยิบชอบจับข้าวของ
(แต่ไม่เคยเอามาคืน) จะถือเป็นความซวยอย่างมหันต์!!"
"ห้องค่อนข้างอบอ้าวนะคะ ก็ลองนึกดูว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าต้องทำแล็บในห้องนี้ ขอบอกอีกอย่างนะคะ แล็บวิชานี้โอกาสที่จะได้นั่งพักยากกกก
ส่วนใหญ่ต้องยืนจนขาแข็งเหน็บกิน ดังนั้นสำหรับสุภาพสตรีจึงไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงปรี๊ดดดเป็นอันขาด"
"ห้องอื่นๆที่อยู่ในชั้น 4 จะมีส่วนที่ยกสูงขึ้นไป ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นห้องของฝ่ายโสตฯและมีห้องสำหรับกิจกรรมสันทนาการ แต่ห้องสันทนาการไม่ค่อยได้ใช้ทำอะไรเสียเท่าไร มักถูกใช้เป็นห้องซ้อมการแสดงในงานต่างๆมากกว่า"
"เดี๋ยวให้เวลาทุกท่านพัก 10 นาทีนะคะ แล้วค่อยขึ้นไปดูชั้น 5 คิดว่าคนที่ชอบเกี่ยวกับการเรียนเรื่องสมุนไพรน่าจะสนใจ เพราะเป็นชั้นของภาควิชาพฤกษศาสตร์และภาควิชาเภสัชวินิจฉัย ทั้งสองภาคก็เกี่ยวกับสมุนไพรทั้งนั้น"
"ลักษณะการเรียนของวิชา Anatomy And Taxonomy Of Medicinal Plants หรือก็วิชาเกี่ยวกับพวกอนุกรมวิธานเหล่าพืชๆนั่นแหล่ะ คิดว่าคงจะรู้จักการ run key มาแล้ว (คล้ายๆ dichotomous key) นำต้นพืชมาศึกษาลักษณะใบว่าเป็นใบเลี้ยงคู่หรือใบเลี้ยงเดี่ยว ใบยาวหรือกลม มีหนามหรือไม่มี มีผลหรือไม่ อุปกรณ์ก็มีพวก slide ใบมีดโกนไว้ตัดดูท่อลำเลียง กล้องจุลทรรศน์ กล้องสเตอริโอ ต่างๆคนต่างๆทำไปเขียนรายงานส่ง ส่วนเวลาสอบใช้จับฉลากว่าใครจะโชคดีโชคร้ายได้ต้นยาก
(ต้นที่ดอกเล็กกระจิ๋ว) หรือโชคดีได้ต้นง่ายหน่อย"
(เวลาเรียนก็เป็นแบบที่เห็น มีต้นไม้วางไว้ให้ศึกษา)
"ก็ในห้องเราจะเห็นเป็นโต๊ะยาว ที่มีตู้เก็บของอยู่ด้วย ภายในก็มีอุปกรณ์การทดลองเก็บอยู่ ซึ่งจะใช้ในวิชา เภสัชวินิจฉัย (Pharmacognosy) ที่เราจะใช้ทดสอบสารต่างๆที่มีอยู่ในพืชชนิดต่างๆ"
"พิเศษๆๆๆๆมากๆๆๆสำหรับห้องแล็บชั้น 5 เพราะเป็นห้องแล็บที่ใช้ในการเรียนหลายวิชาทีเดียว โดยวิชาที่ต้องเรียนที่ห้องนี้ คือ วิชาที่เรียนเกี่ยวกับพืชสมุนไพร ที่มีลักษณะการเรียนที่อาจารย์จะนำต้นไม้มาให้เราทำการศึกษาดูลักษณะต่างๆก็คล้ายๆวิชา Anatomy And Taxonomy Of Medicinal Plants นั่นแหล่ะ แต่ต่างที่เราจะต้องจำให้ได้ด้วยว่าต้นไหน ใช้เป็นยาอะไรมีสรรพคุณทางยาอย่างไรบ้าง เวลาสอบจะกั้นห้องๆมีต้นไม้วางไว้ให้เราดูห้องต้องเขียนตอบเกี่ยวกับต้นไม้นั้น ไม่ว่าจะเป็นชื่อไทย ชื่อภาษาอังกฤษ สรรพคุณ ส่วนที่ใช้ วงศ์อะไร ซึ่งก็ต้องจำให้ได้เน้อ
"
(เวลาสอบเป็นแบบนี้ล่ะ แบ่งออกเป็นสถานี
แต่ละสถานีมีต้นไม้ที่ใช้เป็นคำถามวางตั้งไว้ในถาด)
(บรรยากาศภายในห้องแล็บ botany และห้องนี้ก็ใช้เป็นห้องแล็บสำหรับวิชา Pharmacognosy ด้วย)
เหลือบเห็นลูกทัวร์บางคนนั่งปาดเหนื่อย สีหน้าแสดงความสยองขวัญ
.
"แหม ถ้าอยากเรียนคณะนี้ก็ต้องสู้ๆๆนะคะ คุณๆขา หุหุ ข้างหลังห้องจะมีตู้แช่เอาไว้แช่ต้นพืชที่เก็บมา ต้นพืชที่นักศึกษาเภสัชใช้ในการเรียนก็จะเป็นต้นไม้จากสวนสมุนไพร "สิรีรุกขชาติ" ที่วิทยาเขตศาลายานู่นแน่ะ"
"อย่าเพิ่งทำหน้าเหนื่อยอย่างนั้นสิคะ เรายังเหลืออีกหลายชั้น
แถมอาคารราชรัตน์ยังไม่ได้ไปเลย เอ้าๆๆไปกัน"
เสียงซุบซิบบ่นไปต่างๆนานาดังแว่วมาจากกลุ่มก้อนประชากรที่ตอนนี้แม้จะเคลื่อนตัวกันเดินไปต่อก็ยังทำได้อย่างเชื่องช้า ความกระฉับกระเฉงลดลงไปกว่าครึ่งค่อนของตอนที่เพิ่งมาใหม่ๆ ไม่รู้ว่าเพราะเริ่มเหนื่อยกับการต้องเดิน หรือเริ่มเหนื่อยบวกกับเริ่มรู้สึกว่าการเรียนในคณะนี้ "มันไม่หมูเลย!!" คงมีแต่เด็กหนุ่มจอมช่างซักช่างถามเดินตัวปลิวอย่างสบายอกสบายใจ .
ทางฝ่ายเจ๊ไก่เอ้ยย..ไกด์ จ้องมองอีกฝ่าย"อึดแหะ ไม่ยักกะกลัว เดี๋ยวต้องทำให้กลัวมากกว่านี้ หุหุ"
"อะแฮ่ม! นี่คือชั้น 6 ของอาคารตอนนี้ก้ใกล้จุดหมายปลายทางซึ่งก็คือชั้น 7" หลายคนยิ้มแย้มท่าทางสดใสกว่าเดิม แต่สักพักรอยยิ้มก็หายไปสีหน้าคลับคล้ายผักสลัดช้ำๆเมื่อได้ยินประโยคต่อมา
"แต่อย่าลืมว่าอาคารใหม่ยังไม่ได้ไปดูเลยนะคะทุกท่าน"
(ภายในห้องแล็บวิชาสีรระวิทยา)
"ที่นี่เป็นชั้นของภาควิชาสีรระวิทยาและภาคเภสัชวิทยา โดยฝั่งอาคารเก่านี้จะมีห้องแล็บซึ่งวิชาสรีระวิทยาและวิชาเภสัชวิทยาจะใช้ห้องแล็บเดียวกันในการเรียน การเรียนของวิชาสีระวิทยาเนี่ย ไม่ต้องกลัวนะคะ คณะเภสัชไม่มีการผ่าอาจารย์ใหญ่ เรามีแต่การศึกษาชิ้นส่วนต่างๆของอาจารย์ใหญ่ค่ะ"
"ลองมองไปรอบๆห้องนะคะ ห้องจะเห็นตู้กลางห้องจะมีโครงกระดูกของอาจารย์ใหญ่ ริมสุดติดหน้าต่างจะมีโถแก้วซึ่งมีอวัยวะและชิ้นส่วนต่างๆของอาจารย์ดองแยกเอาไว้ รวมถึงมีโมเดลให้ศึกษากันด้วย เวลาเรียนเราก็จะนำชิ้นส่วนนั้นมาใส่ไว้ในถาดให้นักศึกษาได้เรียนกัน รวมถึงอาจจะศึกษาด้วยคอมพิวเตอร์ด้วย"
"การเรียนเราจะเน้นโครงสร้าง การทำงาน และหน้าที่ โดยจะเน้นจำหลักใหญ่ๆสำคัญๆ เภสัชไม่ต้องจดจำถึงขนาดทุกเส้นสายลายประสาทแบบนักศึกษาแพทย์ แล็บที่ผ่าอาจารย์ใหญ่เขาเรียกว่า "แล็บGross"
ดังนั้นถึงเราไม่ได้ลงลึกเท่าแพทย์ แต่ก็ใช่ว่าจะเรียนกันอย่างง่ายๆ
ใครประมาทก็อาจจะลำบากได้เช่นกัน"
ขณะที่บางส่วนเดินจ้องมองโถแก้วดองชิ้นส่วนอาจารย์ใหญ่บ่นพึมพำๆ "อยากเรียนหมอมากกว่า" บางเสียงก็ว่า "ดีจังไม่ต้องเรียนผ่าอาจารย์ใหญ่เล้ยย" ก็น่าจะคาดได้ว่า "บางคนคิดกันอย่างไรบ้าง"
"ด้านหลังห้องจะเห็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีสายระโยงระยาง มีคล้ายๆหลอดแก้วแต่ขนาดอ้วนกว่า แถมมีท่อต่อด้วย อันนี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองเกี่ยวกับวิชาเภสัชวิทยา ซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ของยาต่างๆ โดยแน่นอนเราจะต้องมีการใช้สิ่งมีชีวิตในการทดลองร่วมด้วย"
"แบบนี้มันก็ต้อง " เสียงหวานใสจากเด็กผู้หญิงหน้าตาบ๊องแบ๊ว ที่ตอนนี้สีหน้าเจ้าหล่อนแสดงความหวาดหวั่น
"ตาย! ค่ะ แน่นอนสัตว์โลกตัวนั้นก็ต้องตายค่ะ แต่นักศึกษาทุกคนจะต้องพยายามทำการทดลองให้ได้ผลที่ดีที่สุด โดยใช้สัตว์ทดลองน้อยตัวที่สุด.. ก็จะมีวิธีในการทดลองแบบต่างๆ เราก็จะนำเฉพาะส่วนมาใช้ เช่น ลำไส้ หัวใจ กระเพาะ ดังนั้นวิธีจัดการกับสัตว์ทดลองก็จะต่างกันไปค่ะ"
"ใช้เครื่องมือนี้หรือครับ" เด็กหนุ่มจอมจุ้นรายเดิม เอ่ยขึ้นพร้อมชี้นิ้วไปยัง เครื่องมือที่มีลักษณะคลับคล้าย เครื่องประหารราชินีฝรั่งเศส
"ใช่ค่ะ เป็นอุปกรณ์หนึ่ง เรียกกันว่า "กิโยติน""
หลายคนทำหน้าขยะแขยงปนสยดสยองแลสะอิดสะเอียนเมื่อจินตนาการภาพอันไม่น่าพิสมัย
"แล้วสัตว์ทดลองนั้นส่วนใหญ่ใช้อะไรครับและเอามาจากไหนกัน"
"ใช้หนูทดลองซึ่งมีหลายขนาด จึงมีชื่อเรียกต่างกันไป ส่วนที่ว่าเอามาจากไหน เราเอามาจากสำนักงานสัตว์ทดลองที่ศาลายาโน่นค่ะ เขาจะบรรจุน้องหนูใส่กล่องลูกฟูก ฝากล่องเจาะรูไว้ให้หายใจ นำมาส่งให้ที่คณะจากนั้นคณะจะนำขึ้นไปเลี้ยงต่อ บน ชั้น 8 ของอาคารราชรัตน์ .ไม่ต้องกลัวนะคะ แล็บที่ต้องใช้สัตว์ทดลองมีไม่กี่แล็บ อีกอย่างถึงเขาจะเป็นแค่หนูทดลอง แต่เขาก็จะผู้ให้ความรู้แก่นักศึกษาด้วย"
ไกด์สาวร่างเหมือนไม้เสียบไก่กวาดสายตามองดูสีหน้าแต่ละคน ที่ตอนนี้แลดูซีดๆ เซียวๆพาลจะแย่
"มา! ไปกันต่อ..ต่อไปชั้น 7 แล้วนะคะ จากนั้นเราจะไปรับประทานอาหารเที่ยงเป็นการคั่นรายการ ต่อจากนั้นค่อยพาชมอาคารราชรัตน์"
"ชั้น 7 นะคะ จะมีภาควิชาชีวเคมี ภาควิชาอาหารเคมี และภาควิชาบริหารเภสัชกิจ ซึ่งห้องแล็บตรงอาคารเทพรัตน์จะเป็นการใช้เรียนทั้งวิชาที่เกี่ยวกับชีวเคมีและอาหารเคมี โดยแล็บของชีวเคมีจะเกี่ยวกับพวกโปรตีน อะมิโนแอซิดต่างๆ คาร์โบไฮเดรต ส่วนอาหารเคมีชื่อก็บอกเกี่ยวกับอาหาร มีการเรียนเกี่ยวกับสับปะรดกระป๋อง การทำอาหารเหลวให้กับผู้ป่วยที่ให้อาหารทางปากไม่ได้ เอาล่ะค่ะ ต่อไปเราไปทานอาหารกันค่ะ"
แน่นอนว่าตอนที่ขึ้นไปยังชั้นต่างๆคณะทัวร์เดินขึ้นไป แต่ตอนลงไม่มีใครจะเป็นท่านเซอร์เดินลงมาแน่ๆ ใช้ลิฟต์ค่า..ใช้ลิฟต์ แต่ลิฟต์อาคารเก่าดีมากเข้าไปกันกี่คนไม่มีสัญญาณเตือนเล้ยย
สงสัยจะเตือนอีกทีตอนลิฟต์กระแทกพื้นมั้ง? หุหุ ไกด์และบรรดาลูกทัวร์เดินจากอาคารเทพรัตน์ตัดผ่านลานจอดรถไปยังอาคารราชรัตน์เพื่อหาข้าวรับประทานกัน
ชั้น 1 ของอาคารราชรัตน์จะมีลักษณะเป็นชั้นใต้ถุนตึก เปิดโล่ง ลมพัดผ่านเย็นสบาย แต่หากเป็นหน้าหนาวก็อาจจะเย็นไปหน่อย มีโต๊ะม้านั่งยาวเรียงเป็นแถวไว้สำหรับให้นักศึกษาบางคนที่ไม่อยากทนร้อน นั่งหัวเหม็นกลิ่นอาหารในโรงอาหารนั่งรับประทานกันตามอัธยาศัย บริเวณพื้นที่ตรงนี้ยังใช้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานเภสัชสังคีต งานนิทรรศการยา(บางปี) งานแรกพบคณะ โดยเมื่อมีงานก็จะยกม้านั่งยาวเหล่านี้ออกไป ใต้อาคารจะมีโซนของโรงอาหารซึ่งจะมีร้านขายอาหารอยู่ประมาณ 5 ร้าน ร้านขายน้ำอีกสองร้าน กับอีก 1 ร้านสยามสเต็ค ในโรงอาหารก็มีที่ให้นั่งและมีโทรทัศน์ให้ดูด้วย ภายในโรงอาหารจะแบ่งเป็นห้องอาหารสำหรับอาจารย์ นั่งสบายกว่าแถมท่าทางจะเย็นกว่าแต่นักศึกษาไม่มีสิทธิ์!!
(บริเวณใต้อาคารราชรัตน์ ที่ซึ่งเป็นที่จัดกิจกรรมต่างๆของนักศึกษา
ที่เห็นในรูปคืองาน PharMaoKe มันก็คือ ประกวดร้องเพลงนั่นล่ะ)
(โปรดสังเกต ด้านหลังที่เห็นเป็นเหมือนห้องอะไรสักอย่าง..ที่แท้มันคือโรงอาหาร)
(นี่ล่ะ รูปร่างของม้านั่งยาวที่อยู่ใต้อาคารนี้)
อีกฟากตรงข้ามกับโรงอาหารจะมีห้องสโมสรนักศึกษา ก็เป็นแหล่งซ่องสุม
เอ้ยย
มั่วสุม..เอ้ยย ชุมนุมของเหล่าบรรดาผู้ที่เรียกตัวเองว่าเด็กสโมฯหรือคนสโมฯ จัดเป็นห้องที่รกมากไม่รู้ว่าข้าวของอะไรเยอะแยะไปหมด..
(โปรดสังเกต...อาคารที่เห็นอยู่ด้านหลัง คือ อาคารโรงงานยา)
ด้านหลังของอาคารใหม่(ราชรัตน์) จะมีสนามปูนเล็กๆที่มีแป้นบาสอยู่ 1 แป้น กับโกลฟุตบอลเล็ก(แถมเก่า)ตั้งอยู่ ตอนเย็นหลังเลิกเรียนหรือบางทีก็กลางวันแสกๆ นักศึกษาชายก็จะมาเตะบอล เล่นบาสไปตามเรื่อง
บางคนก็เล่นจนเหนื่อยเหงื่อโชกเปี่ยมชุ่มจนต้องถอด(ว้าว!)
ถอดเสื้อ..เผยให้เห็นสัดส่วนของแผงอกที่ไม่ล่ำสักนิด(มันยังจะกล้าโชว์กันอีก!!) บางคนยังมีชั้นไขมันหนาปรากฏหราอีกตะหาก! ติดกับสนามปูนจะมีอาคารอีกหลังหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของโรงงานยาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตยาพาราเซตามอลเป็นหลัก ใครสนใจอยากจะได้ยาพาราเซตามอลที่ดีมีคุณภาพ แถมมีตราคณะเภสัช มหิดล ก็ขอเชิญมาซื้อที่ร้านยาคณะได้ค่ะ หุหุ แต่อาคารนี้ยังมีโซนที่ใช้ผลิตอย่างอื่นด้วย ใต้อาคารโรงงานยาจะมีโต๊ะปิงปอง และมีห้องแอร์เล็กๆที่ใช้เป็นที่ทำการชมรมนาฏศิลปและดนตรีไทย ภายในมีเครื่องดนตรีหลากหลายครบครัน ที่สำคัญ! แอร์เย็นฉ่ำใจมากกกก
หลังจากที่คณะทัวร์สวาปามอาหารมื้อกลางวันกันจนอิ่มแปล้ การเดินทางพาทัวร์ก็เริ่มต้นขึ้นทันที โดยเริ่มจากชั้น 2 เมื่อขึ้นจากทางด้านอาคารใหม่เราจะเห็นห้องสมุดของคณะเภสัช ด้านในมีหนังสือจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพวกแนววิชาการที่เกี่ยวกับความรู้ทางด้านเภสัชทั้งนั้น ไม่ค่อยมีหนังสือ่านเล่น
เมื่อกินข้าวเติมพลังจนเต็มถัง ไกด์สาวนามสวยสะก็เริ่มปฏิบัติหน้าที่
"ที่ทุกท่านเห็นคือ ห้องสมุด ภายในมีทั้งหนังสือ วารสาร text book ที่เกี่ยวกับวิชาต่างๆที่เภสัชต้องเรียน ด้านในสุดของห้องสมุดมีร้านถ่ายเอกสารคอยให้บริการ ซึ่งหากเป็นฤดูกาลสอบไม่ว่าจะเป็นสอบไล่หรือสอบกลางภาคจะมีคนใช้บริการจนแน่นขนัดทีเดียว นอกจากนี้จะมีคอมพิวเตอร์ไว้ให้บริการค้นคว้าหาหนังสือ ที่พิเศษกว่าห้องสมุดที่อื่นๆ ก็คือ ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยมหิดลของทุกวิทยาเขตจะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆจากบุคคลที่ไม่ใช่คนในคณะ"
ลูกทัวร์เดินอย่างเนือยๆตามไกด์ตัวดีไปดูห้องอื่นๆ พลางซุบซิบเบาๆ พอจะจับความได้บ้างเล็กน้อย
"ห้องที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากห้องสมุดจะเป็นห้องเล็คเชอร์ของนักศึกษาและยังใช้เป็นห้องจัดประชุมวิชาการของคระด้วย ในชั้น 2 นี้อย่างที่อธิบายไปแล้วก็จะเป็นชั้นของภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรมค่ะ แต่เราก็จะเห็นว่ามีห้องภาควิชาจุลชีววิทยาทางด้านติดกับห้องเล็คเชอร์ เดินไปเรื่อยๆตามทางเดินมุ่งไปยังทางเชื่อมระหว่างอาคารเก่าและใหม่จะเห็นห้องแล็บอีกห้อง ห้องนี้ใช้เป็นที่เรียนเกี่ยวกับเภสัชอุตสาหกรรมอีกเช่นกัน แต่จะเป็นในส่วนการศึกษาเกี่ยวกับยาปราศจากเชื้อ เพราะห้องจะจำลองเลียนแบบคล้ายโรรงานยาที่ผลิตพวกยาปราศจากเชื้อ ซึ่งต้องมีห้องที่ใช้ในการผลิตที่ต้องควบคุมเกี่ยวกับเชื้อ ประมาณจำนวนอนุภาคภายในอากาศอย่างเคร่งครัด ต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าพิเศษคล้ายๆชุดหมี ชุดนักบินอวกาศ"
"ถึงแล้วค่ะสำหรับชั้น 3 ชั้นนี้จะมีห้องแล็บที่ใช้เรียนวิชาเภสัชกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการปรุงยา ทำยา จะได้ทดลองเตรียมยารูปแบบต่างๆ เช่น ยาน้ำ ยาตา ยาครีม ยาขี้ผึ้ง ยาน้ำแขวนตะกอน และยาเหน็บ เป็นต้น เวลาสอบก็สูดดดดดยอดดดด แห่งมหกรรมระทึกขวัญกระตุกวิญญาณ เพราะอาจารย์จะให้เวลาในการทั้งคำนวณเขียนนู้นนี่สารพัดและเตรียมยาให้เสร็จ พร้อมแปะฉลากยาให้ครบถ้วนสวยงาม ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงกับอีก 30 นาทีเท่านั้น"
"ไม่เห็นจะน้อยเลย เวลาตั้งชั่วโมงครึ่งแหน่ะ!" เสียงบ่นดังแว่วๆ
"โอ .ไม่ใช่ตั้งชั่วโมงครึ่งนะคะ แต่มันเป็นแค่ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น เวลาสอบจะมีกระดาษสอบมาให้ บอกเกี่ยวกับว่าในตำรับยานั้นๆต้องใส่สารอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร คราวนี้เราจะต้องเตรียมยาก็ต้องคำนวณว่าจะใช้อะไร ใช้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ต้องเขียนลำดับวิธีการเตรียมยาตำรับนั้นๆอย่างละเอียด เขียนอธิบายเกี่ยวกับสารที่มีในตำรับว่า "ใส่เพื่ออะไร มีหน้าที่อะไร" สรุปคือเขียนได้ละเอียดจะยิ่งได้คะแนนมาก จากนั้นส่งให้อาจารย์ตรวจเซนต์ชื่อกำกับ เป็นการประกาศว่าจะไม่สามารถแก้ไขใดๆได้แล้ว (หากแก้ไขภายหลังจะถือว่ามีเจตนาส่อไปในทางทุจริตจะถูกปรับตกทันที!!) จากนั้นก็เริ่มทำยา รีบกันหัวปั่นเลยล่ะ"
"เอ ไม่เห็นมีอุปกรณ์อะไรเลยนะครับเนี่ย นอกจากเครื่องชั่งแบบต่างๆแล้วเขาจะเรียนเตรียมยากันยังไงครับ" เจ้าเก่าหน้าเดิมถาม(อีก)ตามเคย
"แล็บนี้นักศึกษาจะมีตะกร้าที่ไว้ใส่เครื่องแก้ว ก็มีอาธิ บิกเกอร์และฟลาส์กขนาดต่างๆ แท่งแก้วคนสาร เทอร์โมมิเตอร์ ช้อนเขา และอื่นๆอีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่มีราคาค่างวดแพงๆทั้งสิ้น!! เป็นของประจำตัว แต่ละคนมีไว้สำหรับใช้ในการเรียนเตรียมยา ทุกคนจะต้องดูแลรักษาอย่างดี หากแตก สูญหาย ภายหลังเรียนจบจะมีบิลค่าความเสียหายมาเก็บเงิน ถ้าคิดชิ่งหนี ชักดาบ ปริญญาก็ไม่ต้องรับ!"
"จากนี้ไปเราจะพาท่านเดินไปชมชั้น 4 ภาควิชาเภสัชเคมี กันค่ะ"
"ห้องแล็บนี้จะดีกว่าห้องแล็บชั้น 4 อาคารเก่าเพราะอากาศถ่ายเทได้ดีกว่า ไม่อึดอัดเท่า
ที่นี่ใช้เรียนเกี่ยวกับวิชาเภสัชวิเคราะห์ วิเคราะห์มาปริมาณสารต่างๆ หาปริมาณตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์ในการรักษาของยาในแต่ละเม็ด แต่ละขวด ว่ามีปริมาณตรงตามที่ระบุและมากพอในการใช้รักษาหรือไม่ ใครที่ชอบไทเทรตสาร ก็อาจจะชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่เราก็จะได้เรียนการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ชนิดอื่นๆด้วย และเป็นชั้นที่มีห้องเล็คเชอร์สำหรับเรียนกลุ่มย่อยจำนวนหลายห้องทีเดียว เวลาเรียนแล็บเภสัชกรรมคลินิกเกี่ยวกับพวกเคสคนไข้ ก็จะมาเรียนที่ห้องเล็คเชอร์กลุ่มย่อย โดยอาจารย์จะแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มเล็กๆ"
"เอ่อ
พี่คะ เภสัชเนี่ยต้องเรียนวิชาทุกอย่างที่พี่พาไปทัวร์เลยหรือคะ?" สาวน้อยแก้มป่องเอ่ยถามเบาๆ
"แน่นอนค่ะ ทุกอย่างเลยเป็นพื้นฐานที่เภสัชต้องรู้ทั้งนั้นค่ะ"
"แบบนี้จะจำกันได้หมดหรือคะ?" ถามต่อ
"ต้องจำได้สิคะ ถ้าจำไม่ได้ แบบนี้จะว่าอย่างไรดีล่ะ "
เมื่อได้ยินคำตอบสีหน้าเจ้าหล่อนสลดลงอย่างเห็นได้ชัด
"หนูนึกว่าจะง่ายๆเสียอีก ท่าทางเรียนหนักจังเลย"
"ก็ แน่นอน เภสัชกรก็เป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตคน น้อง(เปลี่ยนสรรพนามจะได้ใกล้ชิดกันหน่อย) สาขาเหล่านี้ต้องเรียนหนักสิ ถ้าเรียนง่ายๆสบายๆ น้องจะยอมให้เขามาดูแลชีวิตของเราหรือคะ"
สาวน้อยส่ายหน้าจนผมกระจาย .
"งั้นก็ต้องเข้าใจวิชาชีพใดๆก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เกี่ยวกับความเป็นความตาย ความรับผิดชอบจะยิ่งสูง ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี ก็ต้องมีการศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อให้มีความรู้แน่นเพียงพอ เข้าใจแล้วนะคะ เดี๋ยวไปชั้น 5 , 6 และ 7 กันต่อล่ะกัน"
"ชั้น 5 ของฟากอาคารใหม่จะเป็นห้องแล็บของนักศึกษาปริญญาโทกับปริญญาเอกตรงนี้ก็จะเห็นว่าข้าวของเยอะแยะ ชั้น 6 ก็เช่นเดียวกันค่ะ แต่สำหรับชั้น 7 จะมีห้องทดสอบผลิตภัณฑ์และห้องเตรียมผลิตภัณฑ์ด้วย สำหรับห้องเตรียมผลิตภัณฑ์จะคล้ายๆห้องครัว มีเครื่องครัวครบครัน มีทั้งตู้เย็น เขียง สารพัด โดยห้องนี้จะติดกับห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ เวลาที่มีคนมาทดสอบ เราจะสั่งผลิตภัณฑ์ให้ทางหน้าต่างกระจกบานเลื่อน พอเวลาทานเสร็จ ผู้ทดสอบจะกดไฟสัญญาณแสดงว่าทำแบบประเมินเสร็จแล้ว ผู้ทำการทดลองจะรับใบประเมินคืนจากผู้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ทางหน้าต่างกระจกบานเลื่อนบานเดียวกันนี่ล่ะ ห้องทดสอบผลิตภัณฑ์จะกั้นแบ่งเป็นห้องๆ แต่ละห้องจะมีอ่างล้างมือให้เผื่อจะบ้วนปากหากทานเสร็จหรือทดสอบผลิตภัณฑ์เสร็จ"
"ยังไม่หมดนะคะ ชั้นนี้จะมีห้องเล็คเชอร์แบบกลุ่มย่อยหลายห้อง นอกจากนี้ยังมีห้องคอมพิวเตอร์ด้วยค่ะ ส่วนชั้น 8 เป็นชั้นสำหรับเลี้ยงสัตว์ทดลอง ซึ่งเราไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปชม .ก็สรุปว่าทัวร์ในวันนี้ก็ได้เสร็จสิ้นแล้วนะคะ"
"ตอนนี้หลายๆท่านคงจะเริ่มทราบเกี่ยวกับคณะเภสัชศาสตร์กันมากขึ้นแล้ว
..หวังว่าคงจะสามารถเลือกทางเดินชีวิตได้ดีขึ้น ไม่ใช่เห็นแต่เพียงว่าเป็นคณะที่ดูดีคระหนึ่ง ถ้าได้เรียนแล้วคงเท่ห์พอควร หาเงินได้ง่าย
.ขออย่าคิดเพียงแค่นั้น เพราะนั่นอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดได้ ขอให้ทุกคนเลือกเดินทางชีวิตด้วยความชอบ ความอยากเรียน และความเข้าใจว่า คณะที่เรามุ่งหมายนั้น "ใช่คณะที่เราต้องการ" "ใช่คณะที่เราชอบหรือไม่" เพราะไม่ใช่เราจะอยู่กับคณะนี้แค่ 4-5 ปี แต่นั่นหมายถึงเราต้องเป็นคนของวิชาชีพนี้และต้องทำงานแบบนี้ไปจนกว่าเราจะเลิกที่จะเป็นคนวิชาชีพนี้ ดังนั้นจงคิดให้ดีๆก่อนตัดสินใจ
.."
หลังจากพาเที่ยวเสร็จไกด์สาวก็ปล่อยให้ทุกคนเดินถ่ายรูปกันอย่างอิสระสักพักก่อนที่จะนำลูกทัวร์กลับไปขึ้นรถ
หลายคนมีสีหน้าท่าทางหนักใจและดูเคร่งเครียดกว่าเมื่อตอนที่มาถึงด้วยอาจจะเริ่มรู้สึกลังเลว่า "ที่นี่ใช่สำหรับตัวเองหรือเปล่า" แต่ก็ยังมีอีกหลายคน(รวมถึงเจ้าหนุ่มจอมซักถาม) มีสีหน้าเปล่งปลั่งมุ่งมั่นเหมือนกับว่า "เขาได้พบกับสิ่งที่ต้องการแล้ว"
อย่าลืม ว่าหากเราก้าวเดินมาบนเส้นทางที่เรารัก เราชอบตั้งแต่ต้น โอกาสที่เราจะเดินออกไปจากที่นั่นย่อมจะจากไปด้วยความรักที่เต็มเปี่ยมได้มาก . แต่หากก้าวเดินมาด้วยความลังเลหรือไม่ได้ชอบ โอกาสที่จะจากไปด้วยความรักย่อมน้อยกว่า ..
หากต้องเป็นเภสัชกรที่ไร้ความสุข ก็ย่อมจะลดน้อยถอยความภาคภูมิใจในวิชาชีพและตนเอง แล้วแบบนี้จะเป็นเภสัชกรที่ดี ทำหน้าที่ได้เต็มกำลังได้อย่างไร .
ขออวยพรให้น้องๆที่มีฝันอยากเข้าคณะนี้จงสำเร็จทุกคน ส่วนคนที่ไม่รู้จักคณะนี้เสียเท่าไรหรือลังเลใจว่าจะเลือกดีหรือไม่ขอให้ลองตรองดูให้ดีๆ เพราะว่าหากตัดสินใจเลือกทางที่ไม่ใช่ อาจจะต้องเสียเวลาไปมากทีเดียว
ในที่สุดบทความก็ได้เสร็จสิ้นก็ขอขอบคุณบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้เขียนทุกท่านล่ะกันนะคะ
ขอขอบคุณ
คุณพ่อ คุณแม่ ที่เลี้ยงดูมาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งกำลังใจและการสนับสนุนต่างๆ บุญคุณมากมายเกินพรรณนา
คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทุกท่าน ที่ได้อบรมสั่งสอนจนข้าพเจ้าได้เรียนสำเร็จเป็นเภสัชกร
คณาจารย์โรงเรียนอัมพรไพศาล ที่ได้สั่งสอนอมรม จนได้เข้ามาเรียนที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เพื่อนๆและน้องๆทุกคนที่คอยเป็นกำลังใจจนกระทั่งทำให้บทความต่างๆของข้าพเจ้าสามารถเขียนได้อย่างสมบูรณ์
และสุดท้ายนี้หากบทความมีข้อผิดพลาดประการข้าพเจ้าก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
14 เมษา 2550
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือรับน้องเภสัชฯมหิดล รุ่นที่ 37 "Oh!! We're DRUG!" โดยสโมสรนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ความรับผิดชอบของ Rx 35 เฉพาะกิจ "งานสานสายใยเภสัชฯมหิดล รุ่นที่ 37"
ผลงานอื่นๆ ของ Pharjung ดูทั้งหมด
ผลงานอื่นๆ ของ Pharjung
ความคิดเห็น